คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ซึ่งมีนายวิชา มหาคุณ เป็นประธานได้เสนอ 5 แนวทางต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้เริ่มกระบวนการสอบสวนคดีนี้ใหม่เพื่อความถูกต้อง หลังพบข้อบกพร่องในสำนวนคดี มีการประวิงเวลาและใช้พยานหลักฐานเท็จ
ด้านนายกรัฐมนตรีตอบรับข้อเสนอดังกล่าว โดยยอมรับว่าคดีนี้เป็นคดีที่ค้างคาใจประชาชน และทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบและกระบวนการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คดีนี้ใช้เวลานานถึง 8 ปี เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก ทั้งตำรวจ อัยการทนายความ ฝ่ายการเมือง มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมซ้ำซากถึง 14 ครั้ง
"ดูแล้ว สลับซับซ้อนพิกลอยู่ ซึ่งสังคมไม่ไว้วางใจตรงนี้" นายกฯ ให้ความเห็น
ในเวลาต่อมา โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่ข้อความจากนายกรัฐมนตรีต่อผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้อ่านรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธแล้ว และรับปากว่าจะเร่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อภายใน 30 วัน
"ผมได้อ่านเอกสารทุกหน้า และรู้สึกว่าสิ่งที่ได้อ่าน เป็นสิ่งที่น่าเศร้ามากสำหรับประเทศไทย แต่สิ่งที่ผมสามารถทำได้และผมจะทำคือ คดีนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการเร่งด่วน และให้ตำรวจดำเนินคดีต่อนายวรยุทธในคดีที่ยังไม่หมดอายุความภายใน 30 วัน" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
สำหรับคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นโดย พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา มีกรอบการทำงานเบื้องต้น 30 วัน และมีคณะกรรมการชุดย่อย 5 คณะ โดยประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านกฎหมายมาร่วมกันพิจารณา อาทิ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตัวแทนจากอัยการสูงสุด และสภาทนายความ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
จุดประสงค์หลังของคณะกรรมการฯ คือ สอบสวนหาข้อเท็จจริง กรณีที่สำนักงานอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ ในคดีต่าง ๆ ทุกข้อหาโดยเฉพาะข้อกล่าวหาขับรถโดยประมาททำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผบ.หมู่งานปราบปราม สน.ทองหล่อ ถึงแก่ความตายในระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ เมื่อปี 2555 ซึ่งตำรวจไม่ทำความเห็นแย้งอัยการสูงสุด ทำให้คดีเป็นอันสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา
"หลายท่านได้ให้เกียรติร่วมเป็นคณะกรรมการชุดนี้โดยไม่ได้หวังผลอะไรตอบแทน เพราะทุกคนต้องการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนขึ้นในเรื่องของกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นหลักของประเทศชาติ ถ้าเราอยู่กันแบบไร้กฎหมายมันไม่ได้ บ้านเมืองก็จะกลายเป็นอนาธิปไตยทันที ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว ถ้าไม่มีกฎหมายเหล่านี้มันอยู่ไม่ได้ หลายอย่างทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ ความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเสียไปเศรษฐกิจก็ไม่มั่นคง การลงทุนก็ลดลง " พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
เนื้อหาสำคัญของข้อเสนอทั้ง 5 ประการนี้ ประกอบด้วย
1.ให้เริ่มสอบสวนใหม่ตามที่คณะกรรมการชุดนี้เสนอมาประกอบด้วย ข้อหาที่ยังไม่ขาดอายุความโดยเฉพาะข้อหาเสพยาเสพติดให้โทษ ข้อหาขับขี่รถในขณะเมาสุราและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
2.จะต้องมีการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมขบวนการนี้ เช่น พนักงานสอบสวนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับสำนวนพนักงานอัยการซึ่งปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และผู้ที่แทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ทั้งหมด ได้แก่ ผู้บังคับบัญชา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนทนายความซึ่งกระทำผิดกฏหมาย พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ ตัวการผู้ใช้และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฏหมาย
3.จะต้องมีการดำเนินการทางจริยธรรม จรรยาบรรณ มรรยาท โดยหน่วยงานหรือองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าวอย่างจริงจังและเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อมีให้เป็นเยี่ยงอย่าง
4.สมควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้บังคับบัญชาผู้มอบอำนาจต้องกำกับดูแล แก้ไขเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้รับมอบอำนาจให้ถูกต้องตามกฎหมายและจริยธรรม หากผู้บังคับบัญชาละเลยให้ถือว่าเป็นผู้บกพร่องต่อหน้าที่
5.คณะกรรมการฯ ขอทำงานต่ออีก 30 วัน เพื่อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในเชิงปฏิรูปให้เกิดความชัดเจน ซึ่งได้พูดคุยกันแล้วว่าจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงซึ่งต้องช่วยกันผลักดันต่อไปเพราะฉะนั้นถ้าใครมีเบาะแสหรือข้อเสนอแนะอะไรก็ขอให้ส่งกับทางคณะกรรมการฯ
เนื่องจากการดำเนินงานของคณะกรรมการมีระยะเวลาที่จำกัดประกอบกับมีพยานหลักฐานซึ่งเป็นพยานบุคคลและพยานเอกสารจำนวนมาก คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ส่งเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) คณะกรรมการอัยการ คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ สภาทนายความเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังเห็นควรให้ดำเนินคดีอาญาผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และเสนอเป็นคดีพิเศษตามกฏหมายว่าด้วยการสอบสวนพิเศษอีกด้วย
พบข้อบกพร่องในสำนวน
ในการแถลงข่าว นายวิชาได้กล่าวถึงรายละเอียดของผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า พบมีการร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทนายความ พยาน และบุคคลทั่วไป ในการเข้าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการดำเนินคดีจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อิทธิพลบังคับ และการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
ใช้กลไกประวิงคดีจนผู้ต้องหาไม่ต้องรับโทษ
คณะกรรมการชุดนี้ยังพบอีกว่ามีความร่วมมือระหว่างผู้ต้องหา ทีมทนายความ เจ้าหน้าที่ของรัฐในการใช้ช่องทางการร้องขอความเป็นธรรมเป็นกลไกในการประวิงคดีและเพื่อช่วยเหลือมิให้ผู้ต้องหาต้องรับโทษตามกฎหมาย
โดยปรากฏว่า มีการยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการเป็นจำนวนถึง 14 ครั้ง แบ่งเป็น
- ในปี 2556 จำนวน 3 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 1 เม.ย. 2556 ครั้งที่สองวันที่ 17 พ.ค. และครั้งที่สามในวันที่ 4 ก.ย.
- ในปี 2557 จำนวน 4 ครั้ง ในวันที่ 24 ก.พ., 21 เม.ย., 24 มิ.ย. และ 18 ก.ค.
- ในปี 2558 จำนวน 1 ครั้งในวันที่ 16 มิ.ย.
- ในปี 2559 จำนวน 3 ครั้งในวันที่ 12 ม.ค., 15 พ.ค. และ 23 ธ.ค.
- ในปี 2560 จำนวน 1 ครั้งในวันที่ 6 มี.ค.
- ในปี 2561 จำนวน 1 ครั้งในวันที่ 19 ก.พ.
- ในปี 2562 จำนวน 1 ครั้งในวันที่ 7 ต.ค.
โดยตั้งแต่ครั้งแรกถึงครั้งที่ 13 อัยการสูงสุดหรือรองอัยการสูงสุดที่มีอำนาจสั่งคดีร้องขอความเป็นธรรมในแต่ละครั้งได้สั่งยุติการร้องขอความเป็นธรรมหลังจากที่ได้สั่งให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม และได้ดำเนินการสอบสวนและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ตาม นายวิชากล่าวว่า การร้องขอความเป็นธรรมกลับเป็นผลสำเร็จในการร้องขอครั้งที่ 14 จากการพิจารณาเพียงพยานหลักฐานเดิมที่ได้เคยมีการพิจารณาไปแล้วและเห็นว่ามีพิรุธและไม่น่าเชื่อถือในการพิจารณาการร้องขอความเป็นธรรมในหลายครั้งก่อนหน้า โดยเฉพาะอัยการสูงสุด รวมถึงรองอัยการสูงสุดหลายคน ได้พิจารณาพยานหลักฐานชุดนี้แล้ว และมีคำสั่งให้ยุติเรื่องไปก่อนหน้านั้นหลายครั้ง
ใช้หลักฐานเท็จ
ส่วนหนึ่งในเอกสารบทสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังระบุอีกว่า ความพยายามในการช่วยเหลือผู้ต้องหาให้รอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีเกิดขึ้นทันทีภายหลังจากเกิดเหตุ โดยสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ ได้สร้างพยานหลักฐานเท็จโดยการนำตัวลูกจ้างของครอบครัวอยู่วิทยามามอบตัวรับสมอ้างว่าเป็นผู้ขับรถ แม้ต่อมาในวันเดียวกันผู้ต้องหายอมจำนนมามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนกลับให้การภาคเสธ
โดยอ้างว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความผิดของผู้ตาย และผู้ต้องหาเพิ่งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์แล้ว
คณะกรรมการฯ ระบุว่า ข้ออ้างอันเป็นเท็จนี้เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ตายซึ่งตายในทันทีหลังจากถูกชนว่าเป็นผู้ต้องหาร่วม ทั้งที่การตั้งข้อหาจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อบุคคลมีชีวิตอยู่และได้แจ้งข้อหาให้แก่ผู้นั้น อันน่าเชื่อว่าการตั้งข้อหาอันเป็นเท็จและไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้เกิดจากการวางแผนของพนักงานสอบสวนและทีมทนายความของผู้ต้องหา โดยกล่าวหาผู้ตายว่าประมาทด้วยเพื่อทำให้รูปคดีเอื้อประโยชน์ต่อการช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาพ้นผิด
นอกจากนี้ ยังมีการระบุถึงหลักฐานเท็จเกี่ยวกับการความเร็วของรถยนต์ขณะเกิดเหตุอีกด้วย
สำหรับผลของการพิจารณาเรื่องการปฏิรูปและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอ 4 แนวทางเพิ่มเติมดังนี้
1.แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการในเรื่องการร้องเรียนขอความเป็นธรรม โดยกำหนดให้:
-การร้องขอความเป็นธรรม ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาต้องมาร้องด้วยตัวเอง
-การร้องขอความเป็นธรรมจะต้องระบุเหตุและพยานหลักฐานให้ครบถ้วน
-การร้องขอความเป็นธรรมมากกว่าหนึ่งครั้งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานใหม่
2.แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการอัยการว่าด้วยการมอบอำนาจ โดยกำหนดให้:
-การมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุดพิจารณา ต้องให้รองอัยการสูงสุดที่พิจารณาเรื่องความเป็นธรรมและการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นคนละคนกัน
-ไม่ว่ารองอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบจะสั่งยุติเรื่องหรือสั่งให้ความเป็นธรรม อธิบดีอัยการหรือรองอัยการสูงสุดผู้มีอำนาจต้องรายงานให้อัยการสูงสุดทราบทุกกรณี
3.การมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้เป็นไปตามมาตรา 34 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในกรณีที่ไม่สั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานอัยการ ให้รายงานต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทราบทุกครั้ง
4.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาในเรื่องอายุความ เพื่อให้เป็นไปในทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 กรณีผู้ต้องหาหลบหนีระหว่างถูกดำเนินคดีอาญา ให้ฟ้องคดีโดยไม่ต้องมีตัวผู้ต้องหาได้ และให้นับระยะเวลาที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี รวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
September 01, 2020 at 05:22PM
https://ift.tt/2QFIMsC
บอส อยู่วิทยา: คณะกรรมการชุด “วิชา มหาคุณ” เสนอให้เริ่มกระบวนการสอบสวนคดีทายาทกระทิงแดงใหม่ - บีบีซีไทย
https://ift.tt/3cjzlrF
Bagikan Berita Ini
0 Response to "บอส อยู่วิทยา: คณะกรรมการชุด “วิชา มหาคุณ” เสนอให้เริ่มกระบวนการสอบสวนคดีทายาทกระทิงแดงใหม่ - บีบีซีไทย"
Post a Comment